
อัมพาต นอกจากจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการ แขนขาอ่อนแรงแล้ว มากกว่าครึ่งของ ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาต ก็มักจะมีอาการ กลืนลำบาก แถมมาด้วย ปัญหาของการ กลืนลำบาก นอกจากจะเป็นเรื่องของการที่ผู้ป่วยกินไม่ได้แล้วยังมีปัญหาอื่นๆที่จะตามมาอีกมากไม่ว่าจะเป็น การกลืนอาหารที่สำลักลงเข้าไปในปอดจนเกิดปอดติดเชื้อ, การขาดสารอาหาร ตลอดจนการดูแลที่จะมีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น ผู้ป่วยจำเป็นต้องใส่สายให้อาหารทางจมูก, ภาวะความเครียดที่เกิดขึ้น

มารู้จักการกลืน
ก่อนอื่นมารู้จักการกลืนกันก่อนนะค่ะ หลายท่านคงจะสงสัยนะค่ะว่า ทำไมผู้ป่วยถึงกลืนไม่ได้? ทั้งที่ การกลืน มันดูเหมือนไม่น่าจะยากอะไร ง่ายกว่าปอกกล้วยเข้าปากอีก แต่จริงๆแล้วนะค่ะ การที่คนเราจะสามารถกลืนอาหารแต่ละคำได้ ต้องอาศัยอวัยวะ หลายส่วนที่มาทำงานประสานกันอย่างลื่นไหล เริ่ม ตั้งแต่ ฟันกับลิ้นที่ต้องทำงานประสานกัน, ก้านสมอง ที่คอยสั่งการให้กล้ามเนื้อในคอทำงานแบบอัตโนมัติเวลาที่อาหารเคลื่อนเข้ามาถึงในลำคอด้านหลัง เช่น ทำให้เกิดการประสานกันในจังหวะปิดหรือเปิดของหลอดอาหารและหลอดลม, เกิดการส่งผ่านอาหารลงมาหลอดอาหาร ถ้าจังหวะที่การประสานงานเหล่านี้สะดุด ก็จะเกิดเหตุการสำลักอาหารลงหลอดลม หรือ สำลักขึ้นจมูก แทนที่อาหารจะลงมาที่ หลอดอาหาร

อาหารแต่ละคำ ร่างกายจัดการอย่างไร?
อาหารแต่ละคำ กว่าจะผ่านลงกระเพาะได้ ต้องผ่านด่านถึง3ด่าน
ด่านที่1 ในช่องปาก อาหารจะถูกฟันบดเคี้ยว คลุกเคล้ากับน้ำลาย หรือน้ำย่อยในปาก เพื่อเตรียมอาหารให้มีขนาดเล็กเหมาะที่จะผ่านลงไปกระเพาะอาหาร ลิ้นก็จะช่วยส่งผ่านอาหารต่อไปยัง ช่องคอด้านหลัง ซึ่งระยะนี้ หลอดลมยังเปิดอยู่ทำให้เรายังหายใจได้ ขณะเคี้ยวอาหาร ส่วนหลอดอาหารก็จะยังปิดอยู่รอจนกว่าอาหารจะผ่านมาถึงด้านหลังของลำคอ
ด่านที่2 ช่องคอด้านหลัง เมื่ออาหารถูกส่งมาที่ด้านหลังของลำคอ ก้านสมองก็จะถูกกระตุ้นให้ทำงาน โดยสั่งการมายัง กล้ามเนื้อในผนังคอด้านหลัง กล้ามเนื้อเหล่านี้ก็จะมีการหดตัวทำงานประสานงานกันแบบอัตโนมัติ
การทำงานประสานกันในระยะนี้ทำให้ ลิ้นด้านหลังมาขวางอาหารไม่ให้ไหลย้อนออกมาทางช่องปาก, เพดานในช่องปากด้านหลังก็จะถูกยกขึ้นไปเพื่อปิดกันไม่ให้อาหารผ่านย้อนขึ้นไปในโพรงจมูก ในจังหวะนี้ ฝาปิดกล่องหลอดลมก็จะปิดกันไม่ให้อาหารลงมาที่หลอดลม และ หลอดอาหารก็จะเปิดเพื่อรับอาหารลงมาที่หลอดอาหารต่อไป
ด่านที่3 เมื่ออาหารลงมาถึง หลอดอาหาร กล้ามเนื้อรอบหลอดอาหาร ก็จะบีบไล่อาหารส่งต่อกันเป็นช่วงๆ ทำให้อาหารค่อยๆถูกบีบไล่ลงไปยังกระเพาะอาหารในที่สุด
เห็นไหมค่ะว่า การกลืนแต่ละคำมีกระบวนการที่ซับซ้อน การมีปัญหาของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการกลืนเพียงมัดใดมันหนึ่ง ก็ทำให้การกลืนนั้นสะดุดไม่ลืนไหลได้
รู้ได้ไงว่า ผู้ป่วยมีปัญหา กลืนลำบาก ?
เราจะสังเกตอาการได้ง่าย ๆ คือ ผู้ป่วยกลืนช้า, มีอาหารตกค้างในกระพุ้งแก้ม , กลืนแล้วเจ็บคอ, เสียงแหบเครือ มีไอและสำลักขณะกลืน เมื่อมีอาการดังที่กล่าวมา ผู้ป่วยควรได้รับการประเมิน โดยผู้ชำนาญทางด้านการกลืน เช่น นักกิจกรรมบำบัด occupational therapist หรือ นักกายภาพบำบัด เพื่อรับการฟื้นฟูในทิศทางที่ถูกต้องและปลอดภัย
มีวิธีการฟื้นฟูด้วยวิธีใด?
การฟื้นฟูหลักคือ การฝึกการกลืน ก่อนอื่นเลยนะค่ะ นักกิจกรรมบำบัด จะวิเคราะห์ก่อนว่า การกลืนไม่ได้ของผู้ป่วยอัมพาตแต่ละคน เกิดจาก ปัญหาของกลไกการกลืนในช่วงไหน? นักกิจกรรมบำบัด จึงจะสามารถวางแผนการฟื้นฟูที่เหมาะสม เป็นรายบุคคล รวมถึงพิจารณาองค์ประกอบต่าง ๆ ของผู้ป่วย เช่น ระดับการตื่นตัว การทำตามคำสั่ง การจัดท่าทางขณะฝึกกลืน การดูแลสุขภาพในช่องปาก รวมถึง การบริหารกล้ามเนื้อและอวัยวะที่เกี่ยวข้องให้แข็งแรง เมื่อผู้ป่วยมีโอกาสได้รับการประเมินและวิเคราะห์ปัญหาก็จะสามารถวางแผน การฝึกกลืน ให้มีประสิทธิภาพได้มากขึ้น
การบริหารกล้ามเนื้อและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง ควรจะบริหารอย่างสม่ำเสมอ รอบละ 15-20 ครั้ง และสังเกตอาการเหนื่อยของผู้ป่วย รวมถึงควรทำก่อนให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอย่างน้อย 30 นาที
การบริหารริมฝีปากและแก้ม
- ยิ้มกว้าง ๆ และคลายยิ้มออก
- อ้าปาก ปิดปาก สลับกัน
- กักลมไว้ในกระพุ้งแก้ม ให้แก้มป่อง แล้วค่อย ๆ ปล่อยช้า ๆ
- เม้มปากให้แน่น แล้วคลายออก
การบริหารลิ้น
- แลบลิ้นยาว ๆ เข้า ออก สลับกัน
- แลบลิ้นแตะริมฝีปาก บน ล่าง ซ้าย ขวา
- ใช้ลิ้นดันกระพุ้งแก้มทั้งสองข้างสลับกัน
- ใช้ไม้กดลิ้นด้านบนลิ้น และให้ผู้ป่วยออกแรงต้าน
- ใช้ไม้กดลิ้นด้านขวาและซ้าย ให้ผู้ป่วยออกแรงต้าน
การบริหารขากรรไกร
- เคลื่อนไหวในท่าเคี้ยวอาหาร
- อ้าปากให้กว้างและปิดปากให้ฟันหน้ากระทบกัน
- เคลื่อนขากรรไกรซ้าย ขวา สลับกัน
การบริหารคอ
- ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่งหันคอในทิศทางต่าง ๆ เช่น ซ้าย ขวา ก้ม เงย
- ให้ผู้ป่วยนั่งหันศีรษะไปซ้าย ขวา และให้ผ้ดูแลออกแรงต้านในด้านตรงข้าม
ชนารัตน์ นิ่มชื่น /นักกิจกรรมบำบัด -เขียน
นพ.วิโรจน์ ตันติโกสุม /อายุรแพทย์-เรียบเรียง
คลินิกกายภาพบำบัด
ศูนย์ดูแลและฟื้นฟู ชีวา
บางใหญ่ นนทบุรี

