Ep145 ยาลดไขมันต้องกินตลอดชีวิตไหม?

ผู้ป่วยหลายคน มีความกังวล ที่ต้องกินยาลดไขมันเป็นเวลานานๆ ความกังวลจากเหตุผลที่แตกต่างไปในแต่ละคน บางคนกลัวไตพัง บางคนกังวลผลข้างเคียงจากยา เช่นปวดกล้ามเนื้อ ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ผู้ป่วยแต่ละคนได้รับมา จึงมักจะมีคำถามว่า

ยาลดไขมันนี้ ต้องกินตลอดชีวิตไหม?

ผมขอตอบแบบนี้ครับว่า ผู้ป่วยที่มีไขมันในเลือดสูงบางคนนะครับ เน้นว่าบางคน อาจไม่ต้องกินยานี้ตลอดชีวิต แต่ผมก็ขอเตือนก่อนนะครับว่า อย่าหยุดยาเอง หรือ หยุดยาโดยไม่ได้เป็นไปตามแผนการรักษาของแพทย์ ด้วยเหตุที่ ภาวะไขมันในเลือดสูง ไม่ได้ก่อให้เกิดอาการผิดปกติอะไร ผู้ป่วยจึงมักจะคิดว่า หยุดยา ก็ไม่น่าจะเป็นอะไร ไม่มีอาการผิดปกติอะไร แต่สิ่งที่น่ากลัวก็คือ การที่เราปล่อยให้ไขมันในเลือดสูงโดยที่ไม่จัดการ ย่อมทำให้เรา มีโอกาสที่จะเป็น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ, โรคอัมพาต หรือ โรคไตได้ เพราะไขมันที่มากเกินไปก็จะไปพอกสะสมตามผนังหลอดเลือดทั่วร่างกาย จนหลอดเลือดเกิดการตีบตัน ถ้าเกิดที่หัวใจก็ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย ถ้าเกิดที่หลอดเลือดสมองก็เป็น อัมพาต หรือ ถ้าเกิดที่หลอดเลือดในไต ก็เป็นไตวาย

แต่ผู้ป่วยที่มีไขมันในลือดสูง ก็มีโอกาสที่จะหยุดยาได้ แต่การหยุดยาต้องอยู่ภายใต้แผนการรักษาของแพทย์

บางคนอาจจะสงสัยว่า ไขมันในเลือดสูง ทำไมถึงจะหยุดยาได้?

คำตอบก็คือ การลดระดับไขมันในเลือด ไม่ได้มีวิธีการใช้ยาอย่างเดียว การปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ก็สามารถช่วยลดระดับไขมันในเลือดได้ โดยที่ผู้ป่วยบางคนอาจจะไม่ต้องใช้ยา

สำหรับผู้ป่วยที่ ไม่อยากกินยาลดไขมันนานๆ ผมแนะนำแบบนี้ครับ

1 ผู้ป่วยแต่ละคนมีความสูงของระดับไขมันแตกต่างกัน ผมแนะนำให้ผู้ป่วยคุยกับแพทย์ที่รักษาถึงความต้องการที่เราจะหยุดยา ปรึกษาความเป็นไปได้ในการที่เราจะไม่ใช้ยาในการลดระดับไขมัน

2 มองหาสิ่งเหล่านี้ในตัวเราแล้วจัดการมันซะ

เรามีน้ำหนักเกินไหม?

น้ำหนัก60กก เยอะไปไหม? ลองคิดแบบเร็ว เอาค่าส่วนสูงของเราลบด้วย100 ก็จะเป็นค่าน้ำหนักที่ควรจะเป็น เช่นสูง160ซม พอมาลบด้วย100 น้ำหนักที่ควรจะเป็นก็ประมาณ 60กก คิดแบบง่ายๆเร็วๆ นะครับ ตามจริงต้องใช้สูตรคำนวณ ดัชนีมวลกาย หรือBMI แต่คิดแบบนี้ก็พอใช้ได้

เรามีไขมันที่พุงมากไหม?

ไขมันสะสมที่หน้าท้องเยอะๆ ก็เรียกกันว่า อ้วนลงพุง (truncal obesity) เราอ้วนลงพุงไหม จะรู้ได้ก็ใช้การวัดรอบเอว คือผู้หญิงถ้ามีรอบเอวมากกว่า31นิ้วครึ่ง หรือผู้ชายมีรอบเอวมากกว่า 35นิ้วครึ่ง ก็เข้าข่ายเป็นคนอ้วนลงพุง มีประเด็นที่น่าสังเกตุตรงนี้ครับ คือ คนที่ไม่อ้วน หมายถึงน้ำหนักไม่เกิน ก็อาจจะมีไขมันหน้าท้องเกิน หรือ เป็นคนอ้วนลงพุงก็ได้นะครับ

เราสูบบุหรี่ไหม? เป็นที่ยอมรับกันแบบไม่มีใครเถียงว่า การหยุดบุหรี่จะทำให้ไขมันในเลือดดีขึ้น

เราเป็นคนนั่งทำงานอยู่กับที่ทั้งวันไหม? เราใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือ โทรศัพท์ ชอบสั่งอาหาร หรือ ชอปปิ้งออนไลน์มีคนมาส่งถึงที่ ไม่ชอบเดิน กลัวเหนื่อย แสดงว่าเรากำลังใช้ชีวิตแบบไม่แอคทีบ หรือ เรียกว่า Sedentary lifestyle ถึงเวลาต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตแบบนี้แล้วนะครับ

เราชอบกินขนมจุกจิก ชอบกินบุฟเฟ ชอบกินเครื่องดื่มหวานๆ ถึงแม้จะบอกว่า ฉันกินอาหารแค่วันละ2มื้อเอง? วิถีการกินที่ไม่เป็นเวลา มีผลให้ตับอ่อน ทำงานสร้างอินซูลินออกมาแบบพร่ำเพรื่อ ไม่เป็นเวลา ทำให้อาหารที่กินเข้าไปถูกสะสมในรูปของไขมันตามร่างกายมากขึ้น

เรามักจะบ่นว่า ไม่มีเวลาออกกำลังกาย? ผมมักจะบอกกับคนไข้ว่า ในชีวิตคนเรา สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต ไม่ใช่เงินทอง ลาภยศตำแหน่ง แต่มันคือ สุขภาพของตัวเรา ยามที่เราป่วยเราจึงจะรู้ว่า หัวใจเรา ไตเรา สมองเรามันสำคัญ เราจะรู้ว่า เวลาที่เจ็บป่วย เงินทองที่มีไม่สามารถเอามารักษาให้เราหายจากโรคได้ ดังนั้น การทำให้ร่างกายมีสุขภาพที่ดี ไม่เจ็บ ไม่ปวด คือสิ่งที่สำคัญที่สุด และเป็นสิ่งแรกที่เราต้องคิดถึงและต้องทำในแต่ละวัน คุณก็จะเลิกบ่นว่าไม่มีเวลาออกกำลังกาย เพียงแค่เราหาจังหวะ หาโอกาสที่จะได้ออกกำลังกาย ได้เคลื่อนไหวร่างกาย เวลาไหนก็ได้ วิธีไหนก็ได้ ฝึกให้เรามีนิสัยการออกกำลังกาย

ลองใช้เวลาสำรวจสิ่งเหล่านี้ ว่าคุณมีไหม ถ้ามีก็รีบจัดการมันซะ

3 จัดเวลาสำหรับการออกกำลังกาย คนที่มีไม่เคยออกกำลังกายเลย อาจจะเป็นเรื่องยาก ที่จะต้องเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นคนที่ออกกำลังกายทุกวัน แต่ถ้าคุณไม่อยากกินยาแล้ว การออกกำลังกาย คือสิ่งที่คุณต้องทำและทำอย่างมีวินัย

คำแนะนำสำหรับคนไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย

1.สร้างเจตคติที่ดีและแรงบันดาลใจของการออกกำลังกาย บอกกับตัวเองเสมอๆ ทุกครั้งที่ถึงเวลาที่เราต้องออกกำลังกาย บอกตัวเองว่า การออกกำลังกายจะทำให้ไขมันในเลือดเราดีขึ้น และอาจจะไม่ต้องกินยา สุขภาพด้านอื่นก็ดีขึ้นไปด้วย

2.เริ่มจากการการเดิน ในชีวิตประจำวัน เดินไปตลาด เดินขึ้นชั้นสองใช้บันไดไม่ใช้ลิฟท์ ตื่นให้เช้าขึ้น เผื่อเวลาให้กับการเดิน ลดความเร่งรีบลงบ้าง ทำตัวเองให้ช้าลงในบางวัน

3.กำหนดแผนการออกกำลังกายในแต่ละวัน เริ่มด้วยการเดิน จะเป็นช่วงเช้า หรือเย็น ได้หมด และต้องบังคับตัวเอง ว่าสิ่งนี้ คือสิ่งที่ดีกับตัวเองและเป็นสิ่งที่ต้องทำ แล้วพาตัวเองออกมาเดินให้ได้

4.เมื่อถึงเวลาที่จะได้ เดิน เริ่มเดิน โดยใช้เวลาไม่นานเช่น 10นาที อย่าใจร้อน ถึงแม้ว่า เป้าหมายของเวลาที่ใช้ในการออกกำลังกายที่เหมาะสมคือ 30นาทีต่อครั้งเป็นอย่างน้อย เราก็ไม่จำเป็นต้องเริ่มที่การเดินให้ได้ 30นาทีในครั้งแรก แค่เริ่มที่10นาทีได้ครบ ก็ถือว่า เราเริ่มต้นได้ดีมาก หลังจากนั้นก็ค่อยๆเพิ่มจาก10นาทีเป็น 15นาที หรือ จะใช้การเดิน10นาที แล้วพัก หายเหนื่อยก็เดินต่ออีก10นาที จนครบ3ครั้ง เราก็ถือว่าเดินครบ 30นาทีในแต่ละครั้งของการออกกำลังกายแล้ว อย่าลืมนะครับการออกกำลังกาย ควรมีความเพิ่มขึ้น หรือ ความก้าวหน้าในการออกกำลังกาย ร่างกายก็จะถูกพัฒนาขึ้นตามไปด้วย

5.บังคับตัวเองให้เดินทุกวัน หรืออย่างน้อย5วันในแต่ละสัปดาห์ ยิ่งออกกำลังกายมากขึ้น นานขึ้น ผลของการลดระดับไขมัน ผลของการลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจ ก็ยิ่งลดลง และอีกอย่างนะครับ ความสม่ำเสมอ เป็นหัวใจสำคัญของการออกกำลังกาย ดังนั้นการที่เราจะได้ประโยชน์จากการออกกำลังกาย เราก็ต้องทำเกือบทุกวัน

6.เลือกการออกกำลังกายที่ทำให้เราไม่เบื่อ เช่น บางคนชอบออกกำลังกายตามจังหวะเพลง, บางคนชอบเดินกับสุนัข, บางคนชอบเดินกับเพื่อน อะไรก็ได้ครับ ที่ทำให้เรา ทำได้นานๆ

นพ.วิโรจน์ ตันติโกสุม

ชีวา บางใหญ่ นนทบุรี

ศูนย์พักฟื้นผู้ป่วย และ ผู้สูงอายุ

คลินิกกายภาพบำบัด

ศูนย์ไตเทียม และ ผ่าตัดเส้นฟอกไต

ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
ล้างไตทางหน้าท้อง
ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ

ชีวา
ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ

ศูนย์ดุแลผู้สูงอายุ
ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
ชีวา
ชีวา