Ep207 3ขั้นตอน ไม่เป็นโรคหัวใจ สำหรับคนเป็นเบาหวาน

ทำไม ผมต้องมาพูดเรื่องโรคหัวใจในผู้ป่วยเบาหวาน โรคหัวใจในที่นี้ ผมหมายถึงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งคนที่เป็นเบาหวานมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมากกว่าคนทั่วไปถึง4เท่า และที่สำคัญ 80% ของ ผู้ป่วยเบาหวาน ที่เสียชีวิตมีสาเหตุมาจาก โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งรวมไปถึง โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ซึ่งโรคนี้ก็มีสาเหตุมาจากหลอดเลือดหัวใจตีบ ดังนั้น ถ้าเราจะพูดว่า เบาหวาน กับโรคหัวใจ เป็นของคู่กัน ก็ไม่ผิดอะไร

คำถามต่อมา ถามว่า โรคหัวใจกับ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเหมือนกันไหม ?

ไม่เหมือนกันครับ โรคหัวใจ เป็นความผิดปกติของหัวใจ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่า ผิดปกติในส่วนไหนของหัวใจ เช่น ลิ้นหัวใจรั่ว, กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ, หรือ หลอดเลือดหัวใจตีบ

เพื่อให้เราได้นึกภาพของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมากขึ้น เรามาทำความรู้จัก หลอดเลือดหัวใจ กันก่อนนะครับ

หลอดเลือดหัวใจ เป็นท่อขนาดเล็กโอบรอบหัวใจ เป็นทางผ่านให้เลือด ไปเลี้ยง กล้ามเนื้อหัวใจ เมื่อท่อเหล่านี้ เกิดการตีบแคบ หรือ อุดตัน เลือดก็จะไม่สามารถผ่านรอยตีบแคบนี้ได้สะดวก จนกระทั้งการตีบแคบมีความรุนแรงมากจนถึงขั้นทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือ กล้ามเนื้อหัวใจตายในที่สุด

หลอดเลือดหัวใจที่ตีบแคบนี้ เกิดจาก การเสื่อมของผนังหลอดเลือดหัวใจเอง ผนังหลอดเลือดที่เสื่อม จะมีการเปลี่ยนแปลงที่ผนังหลอดเลือด โดยเริ่มจาก การที่มีคราบไขมัน พังผืด หินปูน ไปสะสมใน ผนังหลอดเลือด พอกพูน จนทำให้ผนังหลอดเลือดนี้ หนาตัว ทำให้ช่องทางหรือ รูในหลอดเลือดมีการตีบแคบลง

ความเสื่อมของผนังหลอดเลือดจึงเป็นต้นตอของการตีบตันของหลอดเลือดหัวใจ

แล้ว ทำไม เบาหวานถึงทำให้ ผนังหลอดเลือดหัวใจเสื่อมเร็วมากกว่าคนทั่วไป?

การที่ผนังหลอดเลือดเสื่อมอย่างรวดเร็วในผู้ป่วยเบาหวานนี้ ก็เพราะว่า ผู้ป่วยเบาหวาน มีปัจจัยที่เร่งให้ผนังเกิดการเสื่อมมากกว่าคนที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน

ตั้งแต่ ระดับน้ำตาลที่สูง , ไขมันชนิดเลวLDL ในเลือดสูง, ไขมันชนิดดี HDLต่ำ, ไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง, ความดันโลหิตสูง, ภาวะอ้วนลงพุง ซึ่งรวมไปถึง พฤติกรรมที่ไม่ออกกำลังกาย, การกินอาหารหวาน มัน เค็ม , ปัจจัยเหล่านี้ มักจะพบในผู้ป่วยเบาหวานเป็นส่วนใหญ่ ยังไม่รวม เรื่อง การสูบบุหรี่ , ความเครียด, อดนอน

มีวิธีทำให้ไม่เป็นโรคหัวใจไหม?

มีครับ ขั้นแรก ลองสำรวจ 3 เป้าหมายหลัก ใช้คำย่อว่า A B C ในการจัดการเพื่อป้องกันการเกืดโรคหลอดเลือดหัวใจ จำ3ตัวเลขต่อไปนี้ให้ขึ้นใจนะครับ ถามแพทย์ทุกครั้ง ถึงตัวเลข3ค่านี้

น้ำตาล A1c น้อยกว่า 7%

ความดันโลหิต 130/80

ไขมัน LDL น้อยกว่า 100

1 A คือ A1c หรือ น้ำตาลสะสม ค่า น้ำตาลสะสมนี้ ต่างจากค่าน้ำตาลที่ได้จากการตรวจเลือดที่ต้องอดอาหารเช้ามาก่อน ที่เรียกว่า FBS ค่าตัวเลขที่ได้ ของระดับน้ำตาลสะสมนี้ จะสะท้อนถึง ระดับน้ำตาลโดยเฉลี่ยในช่วง3เดือนที่ผ่านมา ทำให้ผู้ป่วยทราบถึง ความสามารถในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด แบบ ระยะยาว ได้ดีกว่า ผลเลือดแบบอดอาหารเช้า ซึ่งค่า FBS จะสะท้อนถึงระดับน้ำตาลในช่วง1-2วันที่ผ่านมาเท่านั้น เช่น ผู้ป่วยบางคน คุมอาหารไม่ดีเลยแต่พอมาช่วง1-2วันก่อนถึงวันนัดตรวจเลือดผู้ป่วยค่อยมาคุมอาหารจริงจัง ทำให้ผลเลือดแบบอดอาหาร FBS ไม่สูง ในขณะที่ ผลน้ำตาลสะสมกลับสูงสวนทางกัน แพทย์ก็จะพยายามควบคุมระดับ A1C ไม่ให้เกิน 7.0%

2 B คือ ฺBlood pressure หรือ ระดับความดันโลหิต ความดันที่สูงมีผลโดยตรงต่อ ผนังหลอดเลือดทั่วร่างกาย การไม่ควบคุมความดันให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ย่อมทำให้ ผนังหลอดเลือดเกิดการเสื่อมอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ระดับความดันโลหิตก็จะถูกควบคุมไม่ให้เกิน 130/80 หรือ อย่างน้อยก็ไม่ควรมากกว่า 140/90

3 C คือ Cholesterol หรือ คลอเลสเตอรอล เจาะเลือดดูระดับไขมัน ตามนี้เลยนะครับ ไขมันเลว หรือ LDL ไม่ควรจะมากกว่า 100 , ไขมันดี หรือ HDL ก็ควรจะมากกว่า 45 สำหรับผู้ชาย หรือ มากกว่า 55 สำหรับผู้หญิง และ ไตรกลีเซอไรด์ ก็ไม่ควรมากกว่า200 ไขมัน3ตัวนี้ มักจะมีปัญหาทั้งหมดในผู้ป่วยเบาหวาน ลองไล่ดูทีละตัวนะครับ

ซึงการจัดการ3ค่านี้ให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย ในผู้ป่วยบางราย ก็อาจจะต้อง ใช้ยาในการควบคุม แพทย์ก็จะติดตาม ค่าเหล่านี้อย่างใกล้ชิด แต่ เครื่องมือที่เราจะใช้ควบคุมค่า ตัวเลขเหล่านี้ ใไม่ใช่มีเพียงแค่การใช้ยานะครับ ยังมีวิธีการอื่นๆอีกมาก เข้าสู่ขั้นที่สองต่อเลยครับ

ขั้นที่สอง สำรวจตัวเอง

เริ่มจาก น้ำหนักก่อนเลย น้ำหนักเราเกินไหม อยากรู้ว่า น้ำหนักเกินไหม คิดแบบเร็วๆนะครับ เอาส่วนสูง ตั้งลบด้วย100 เช่น สูง 170 ลบด้วย 100 ก็เหลือ 70 น้ำหนักก็ไม่ควรเกิน 70 กก ถ้าเกินก็รีบจัดการวิธีการกินอาหารของเรา นะครับ กินจุกจิก ไม่เป็นเวลา ชอบน้ำอัดลม กาแฟเย็น ชอบขนมหวาน เบเกอรี่

ต่อมาก็ มองลงมาที่พุง ดูไขมันหน้าท้อง บางคนน้ำหนักไม่เกิน แต่มีไขมันหน้าท้อง อันนี้ก็เป็นสัญญาณที่บอกว่า เรามีไขมันในร่างกายมากเกิน แสดงว่า ยังมีการกินอาหารที่มากเกิน หรือ มีการออกกำลังกายไม่เพียงพอ ก็ต้องควบคุมอาหารและเริ่มสร้างนิสัยของการออกกำลังกาย

ดูพฤติกรรมตัวเอง สูบบุหรี่ไหม? ข่าวดี สำหรับ ใครที่สูบอยู่ ก็คือ เมื่อคุณเลิกสูบบุหรี่ ความเสี่ยงในการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายของคนคนนั้นจะลดลง การควบคุมระดับความดันโลหิต ระดับไขมันทั้งชนิดดี และเลว จะควบคุมได้ง่ายขึ้นมาก ดังนั้น การเลิกสูบบุหรี่ ถือว่าเป็นยาขนานเอกที่ได้ผลดีมากในการป้องกันโรคหัวใจ

ออกกำลังกายเป็นประจำไหม? ใครที่ไม่ชอบออกกำลังกาย หรือ ออกกำลังกายสัปดาห์ละไม่กี่ครั้ง ผมบอกเลยว่า คุณกำลัง มองข้ามยาที่วิเศษที่สุด วิเศษกว่ายาที่ได้จากโรงพยาบาลอีกนะครับ เพราะว่า การออกกำลังกาย สามารถ ลดปัจจัยทั้งหลายที่ผมเล่ามานี้ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการควบคุมระดับน้ำตาล, ลดไขมันเลว, เพิ่มไขมันดี, ลดระดับความดันโลหิต, ลดไขมันหน้าท้อง, เพิ่มการเผาผลาญในร่างกายทำให้ สามารถควบคุมน้ำหนักไม่ให้เพิ่มขึ้น ยังไม่รวม ผลดีทางด้าน อารมณ์ ลดความเครียด ช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น และที่สำคัญมากๆ ก็คือ การออกกำลังกาย สามารถชะลอความเสื่อมของผนังหลอดเลือดได้ เห็นไหมครับ มียาชนิดไหนที่ให้ประโยชน์มากมายขนาดนี้ไหมครับ? รู้แบบนี้ ก็คงไม่ลังเลที่จะเริ่มออกกำลังกาย จริงจังกันนะครับ

ขั้นที่สาม เริ่มลงมือทำ

กิน กินอาหารให้ครบ 3เวลา กับน้ำเปล่า เน้น อาหารมื้อเช้า และ ลดความสำคัญของมื้อเย็นลง ลดของหวาน เบเกอรี่ ไม่กินอาหารจุกจิก งด กาแฟเย็น น้ำอัดลม เครื่องดื่มหวานๆ ไม่กินผลไม้หวานๆมากเกิน

เดิน ทำให้ร่างกายขยับมากขึ้น เดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟท์ เดินไปตลาด และที่สำคัญ สร้างนิสัยของการออกกำลังกาย คำว่าสร้างนิสัย ก็คือ การทำสิ่งเดิมๆซ้ำจนชิน เช่น กลับจากที่ทำงานต้องเปลี่ยนรองเท้ากีฬาออกมาเดิน มาวิ่ง ทุกวัน วันไหนไม่ได้เปลี่ยนรองเท้ากีฬาวันนั้นจะรู้สึกแปลกๆ แบบนี้เรียกว่า ติดเป็นนิสัย ในช่วงแรกที่เริ่มออกกำลังกายก็ไม่ต้องไปกดดันตัวเองมากว่าต้องเดินเท่านั้นเท่านี้ นาที ขอให้ได้เปลี่ยนรองเท้ากีฬาทุกวัน ก็ถือว่า สร้างนิสัยการออกกำลังกายได้ สำเร็จ เมื่อเราได้นิสัยการออกกำลังกายมาแล้ว ทีนี้ เราก็จะสามารถควบคุมตัวเรา ให้เดิน ให้วิ่ง ได้นานตามทีเราวางเป้าหมายเอาไว้ ค่อยๆทำ ค่อยๆเพิ่ม มีเป้าหมายที่30นาทีต่อครั้ง ทำให้ได้ทุกวัน

นอน การนอนที่เพียงพอ ไม่อดนอน ไม่นอนดึก มีผลดีต่อร่างกายอย่างมาก ช่วยให้ ความดันโลหิตไม่สูง, ระดับน้ำตาลลดลง, หรือแม้กระทั้ง การนอนที่เพียงพอยังส่งผลถึงฮอร์โมนความหิวในร่างกาย ทำให้ไม่รู้สึกหิวง่าย และควบคุมน้ำหนักได้ดีอีกด้วย

ไม่สูบ หลายคนบอกว่า การหยุดสูบบุหรี่ เป็นเรื่องยาก ใช่ครับยากจริงๆ แต่ ผมก็เห็นผู้ป่วยส่วนใหญ่ ผมใช้คำว่า ส่วนใหญ่นะครับ หรือ ประมาณว่า ผู้ป่วยมากกว่า90% ของผู้ป่วยที่สูบบุหรี่และป่วยจนต้อง เข้ามารับการตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยเหล่านี้สามารถหยุดบุหรี่ได้ภายในข้ามคืน หยุดหลังจากที่รู้ว่า ตัวเองเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมากแล้ว ต้องทำบอลลูน หรือต้องผ่าตัดบายพาส ทำไมคนเหล่านี้ ถึงหยุดได้เองภายในข้ามคืน? ก็เพราะ ความกลัวเจ็บ กลัวตาย กลัวความทรมาน กลัวการผ่าตัด กลัวที่จะไม่ได้อยู่กับลูกเมีย ความกลัวกลายเป็นพลังที่เข้มแข็ง จนทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้ เอาชนะความอยากบุหรี่ ยอมฝืนที่จะเปลี่ยนนิสัยสูบบุรี่ กลายเป็นนิสัยใหม่

นพ.วิโรจน์ ตันติโกสุม

ชีวา บางใหญ่ นนทบุรี

ศูนย์พักฟื้นผู้ป่วย และ ผู้สูงอายุ

ศูนย์ฟอกไตประสิทธิภาพสูง และ ผ่าตัดเส้นฟอกไต

ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
ชีวา
คลินิกกายภาพบำบัด
คลินิกกายภาพบำบัด
ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
ชีวา
ชีวา
ชีวา
ชีวา
ศูนย์ไตเทียม