Ep211 หน้าที่ไตที่หลายคนไม่รู้

ไต ไม่ได้ทำหน้าที่แค่ การขับปัสสาวะนะครับ

ทำไมคนที่ไตวายระยะสุดท้าย และไม่ยอมฟอกไต จึงมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกินสัปดาห์?

ก็เพราะว่า ไตทำหน้าที่สำคัญอื่นๆ มากมาย ที่จะทำให้คนเรามีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข วันหนึ่งเมื่อไตหยุดทำงาน คนเราจึงไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ เมื่อเรารู้แล้วว่าไต ทำงานหนักขนาดไหน เราก็จะรักไต และรู้จักดูแลไตให้อยู่กับเราไปนานๆ

ไตไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่ขับปัสสาวะนะครับ ไตยังสามารถทำงานที่สำคัญอื่นๆอีกมากมาย ได้แก่ การขับของเสีย, ยา,สารพิษต่างๆ รวมไปถึง การช่วยรักษาระดับสารเกลือแร่, หรือ แร่ธาตุต่างๆให้มีระดับที่ร่างกายต้องการ และ ไตยังมีหน้าที่ที่ผมเชื่อว่าหลายคนอาจจะคิดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็น การที่ไตช่วยสร้างกระดูกคนเราให้แข็งแรง, ไตช่วยควบคุมระดับความดันให้เหมาะสม, ไตยังมีส่วนในการสร้างเม็ดเลือดแดง เห็นไหมครับว่า การทำงานของไตที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีพของคนเรา มากกว่าการทำหน้าที่ขับปัสสาวะ เรามาค่อยๆทำความเข้าใจกับการทำงานเหล่านี้ของไตกันนะครับ ผมสรุปออกเป็น 4หน้าที่หลักๆ ดังนี้ครับ

1 ไตขับสิ่งที่คนเรากินเข้าไป และเกินความต้องการของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น อาหาร, น้ำ, เกลือแร่ หรือ แร่ธาตุต่างๆ เวลาที่คนเรากินอาหารเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่ม หรือ เกลือแร่ เช่น โซเดียม, โปแตสเซียม หรือ แร่ธาตุต่างๆเช่น แคลเซียม, ฟอสฟอรัส ที่อยู่ในอาหารต่างๆ เมื่อสารเหล่านี้ มีปริมาณที่เกินความต้องการ ซึ่งย่อมก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายตามมา ไต จึงต้องขับสารเหล่านี้ทิ้งออกไป รวมไปถึงของเสียเช่น ยูเรีย ที่เกิดจากการเผาผลาญอาหารประเภทโปรตีน ไตก็จะขับทิ้งออกมาทางปัสสาวะ แล้ว ไตมีวิธีขับสารเหล่านี้ทิ้งออกมาทางปัสสาวะได้อย่างไร?

ไตขับสารเหล่านี้ได้ด้วยการที่ เลือดปริมาณมากพาสารเหล่านี้ผ่านมาที่ไต โดยเริ่มจากเลือดที่ถูกบีบออกมาจากหัวใจ ปริมาณ 5ลิตร ในทุก1นาที และ1ใน4ส่วนหรือ 1.2ลิตร ของเลือดที่ออกมานี้ จะผ่านเข้ามาในไตทุกนาที ลองนึกภาพนะครับว่าไตต้องทำงานหนักขนาดไหน เลือด 1.2ลิตร หรือ 1,200มล ต้องผ่านเข้าไปอยู่ในเนื้อไตซึ่งมีขนาดเพียงกำปั้นมือ หรือเทียบเท่าปริมาตรเนื้อไต เพียง 150มล หลังจากนั้น สารน้ำ, เกลือแร่, แร่ธาตุต่างๆ, ของเสีย ในเลือดซึ่งมีปริมาณมหาศาลที่ผ่านเข้ามาในเนื้อไต ก็จะถูกกรองเข้ามาออกมาจากหลอดเลือดผ่านเข้าไปในท่อไต ซึ่งกระบวนกาเหล่านี้ก็คือ การกรองที่ไต หลังจากผ่านการกรองมาแล้ว สารเหล่านี้ก็จะผ่านเข้ามาในท่อไต แต่ก็ไม่ใช่ว่าสารเหล่านี้จะถูกขับทิ้งไปทั้งหมด ไตก็จะเลือกดูด น้ำ, สารต่างๆ กลับเข้ามาในหลอดเลือดอีกครั้ง ส่วนไตจะดูดกลับมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับ สภาพร่างกายในเวลานั้น เช่น เวลาที่ร่างกายขาดน้ำ ในขณะ ออกกำลังกาย ไตก็จะดูดน้ำกลับเข้ามามากขึ้นเพราะร่างกายกำลังต้องการน้ำ

ต่อไปนี้ก็จะเป็นหน้าที่ของไตที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อน

2 ไตช่วยควบคุมระดับความดันโลหิต การควบคุมระดับความดันที่ว่านี้หมายถึงเวลาที่ความดันต่ำไตก็จะประคับประครองไม่ให้ความดันต่ำลงไปมาก หรือในทางกลับกัน เวลาที่ความดันสูงไตก็จะช่วยให้ความดันไม่ขึ้นสูงมากเกินไป เวลาที่คนเราเกิดภาวะความดันต่ำ อาจจะเกิดจาก ขาดน้ำ, เสียเลือด ไตก็จะช่วยประคองความดันที่ต่ำนั้นไม่ให้ต่ำลงไปมาก ด้วยการ ดูดน้ำดูดเกลือที่กรองผ่านเข้ามาในท่อไตนั้น กลับคืนสู่ร่างกายมากขึ้น รวมทั้งการที่ไตยังมีกรสร้างฮอร์โมนที่เรียกว่า เรนนิน rennin ไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างสารที่ทำให้หลอดเลือดในร่างกายหดตัว ทำให้ความดันสูงขึ้น ในทางกลับกัน ผู้ป่วยที่มีความดันสูงจากการที่ร่างกายมีปริมาณน้ำ และเกลือมากเกินไป ไตก็จะไปช่วยขับเกลือดขับน้ำออกไปมากขึ้น ทำให้ความดันนั้นลดลง ดังจะเห็นผู้ป่วยที่มีไตทำงานลดลงก็จะมีปัญหาความดันสูงตามมา

3 ไตช่วยทำให้กระดูกแข็งแรง หลายคนฟังแล้วอาจจะประหลาดใจว่า ไตไปเกี่ยวกับกระดูกได้อย่างไร คืออย่างนี้ครับในเนื้อกระดูกมีแร่ธาตุที่สำคัญคือ แคลเซียมและฟอสฟอรัส โดยเฉพาะแคลเซียม เวลาร่างกายมีแคลเซียมลดลง ไตก็จะไปเพิ่มระดับแคลเซียมในเลือดด้วยการ สร้างวิตามินดี ในการกระตุ้นการดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้ รวมทั้งการดูดแคลเซียมที่ถูกกรองออกมาจากเลือด กลับคืนเข้าไปในกระแสเลือด ทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดสูงขึ้น นอกจากนี้ ไตยังช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างเนื้อกระดูกอีกด้วย ดังจะเห็นได้ว่า ผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตลดลง ก็จะทำให้ระดับแคลเซียมลดลง ในขณะที่ระดับฟอสฟอรัสกลับสูงเพิ่มขึ้น ความไม่สมดุลของแร่ธาตุทั้งสองนี้มีผลต่อการกระตุ้นการทำงานของต่อมที่อยู่ข้างๆต่อมไทรอยด์ที่เรียกว่า ต่อมพาราไทรอยด์ ต่อมนี้ก็จะสร้างฮอร์โมนที่ทำหน้าที่เพิ่มระดับแคลเซียมในเลือด ด้วยการ ดึงแคลเซียมในเนื้อกระดูกออกมา ทำให้เนื้อกระดูกบาง ที่เรียกกันว่า กระดูกพรุน และเสี่ยงที่จะเกิดการล้มจนกระดูกหักในที่สุด

4 ไตทำให้ไม่ซีด ปัยหาหนึ่งของผู้ป่วยไตวายก็คือภาวะซีด จากการที่ ร่างกายมีการสร้างเม็ดเลือดแดงน้อยลง ที่เป็นเช่นนี้ก็ ไม่ใช่ว่า ไตมีหน้าที่สร้างเม็ดเลือดแดงะครับ แต่ไตมีหน้าที่สร้างฮอร์โมนที่ชื่อว่า อิริโทรโพอิติน(Erythropoietin) หรือเรียกสั้นๆว่า อีโป (EPO) ไปกระตุ้นให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดงมากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่ ผู้ป่วยไตวายที่เกิดภาวะซีดจากการขาดฮอร์โมนนี้ จึงต้องรับการฉีดฮอร์โมนนี้เพื่อแก้ไขภาวะซีด

ไต อวัยวะเล็กในช่องเท่า ขนาดกำปั้นมือ แต่ต้องทำหน้าที่สำคัญๆ เพื่อให้คนเรามีชีวิตอยู่ได้ จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายและต้องฟอกไต แต่ปฎิเสธการฟอกไต ส่วนใหญ่ ก็จะไม่สามารถมีชีวิตได้นาน ไม่ถึงสัปดาห์

ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
ชีวา
คลินิกกายภาพบำบัด
ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
คลินิกกายภาพบำบัด
ชีวา
ชีวา