Ep216 เกิดอะไรตามมา หลังเลือกที่จะ ฟอกไต?

ผู้ป่วยไตวายระยะที่5 เป็นระยะสุดท้าย ระยะที่ไตทำงานน้อยมาก จนกำลังจะหยุดทำงานโดยสิ้นเชิง เมื่อถึงเวลานั้น เวลาที่ไตหยุดทำงาน เราเรียกว่า ภาวะ ไตล้มเหลว ซึ่ง ผู้ป่วยก็จะเกิดอาการที่เกิดจากไตไม่ทำงาน ตั้งแต่ ปัญหาน้ำเกิน เหนื่อยง่าย นอนราบไม่ได้ น้ำท่วมปอด หรือ เลือดเป็นกรด หรือ โปแตสเซียมในเลือดสูงมาก ซึ่งภาวะเหล่านี้มีความรุนแรงจนสามารถทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ได้ ผู้ป่วยที่เกิดไตล้มเหลว จึงต้องได้รับการฟอกไตโดยเร็ว เพราะ ถ้ายังไม่ได้รับการฟอกไต ก็มักจะเสียชีวิตภายในไม่กี่สัปดาห์

ดังนั้นในผู้ป่วยที่มีไตวายเข้าสู่ ระยะสุดท้าย แพทย์ก็จะให้ผู้ป่วย เตรียมตัดสินใจที่จะเลือก ฟอกไตทางหลอดเลือด หรือ ล้างไตทางหน้าท้อง แต่ผู้ป่วยบางส่วนก็มักจะมีความลังเลในการตัดสินใจ เพราะขาดข้อมูลในการตัดสินใจ ในครั้งนี้ ผมก็จะมาเล่าในมุมของผู้ป่วยที่เลือกฟอกไต ให้เห็นภาพว่า จะมีเหตุการณ์หรือ เรื่องราวอะไรบ้างที่จะเกิดตามมาหลังจากที่ผู้ป่วยตัดสินใจเลือกฟอกไต

1 ต้องเตรียมผ่าตัดเส้นฟอกไต ที่แขนแบบถาวร

การฟอกไต แต่ละครั้งต้องอาศัย เส้นฟอกไตที่แขน ในการใช้เป็นช่องทางในการแทงเส้นเลือดเพื่อดึงเลือดออกจากร่างกายผู้ป่วยมายังเครื่องฟอกไต ซึ่งเส้นฟอกไต ก็คือ หลอดเลือดดำที่แขน ที่มีขนาดใหญ่ และผนังแข็งแรง ซึ่งหลอดเลือดดำแบบนี้ คนเราไม่ได้มีมาตามธรรมชาติจึงต้องอาศัยการผ่าตัด โดยศัลยแพทย์เฉพาะทางหลอดเลือด ซึ่งหลังผ่าตัดเส้นฟอกไตนี้ ก็ยังไม่สามารถใช้งานได้ทันที ต้องรอเวลา 1-2เดือนหลังผ่าตัดจึงจะใช้งานได้ ดังนั้นทันทีที่ผู้ป่วยตัดสินใจเลือกวิธีฟอกไต ขั้นต่อไปก็คือ การเข้ารับการผ่าตัดเส้นฟอกไตโดยเร็ว เพราะ เมื่อเกิดภาวะไตล้มเหลวขึ้นมา จำเป็นต้องฟอกไตโดยด่วน แต่ยังไม่มีเส้นฟอกไตที่แขนที่ใช้งานได้ ก็จะทำการการฟอกไต มีความซับซ้อนมากขึ้น

2 วิถีชีวิตที่จะต้องเปลี่ยนไป

โดยทั่วไป ผู้ป่วยที่มารับการฟอกไตที่ ศูนย์ไตเทียม ประมาณ 2-3ครั้งต่อสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับการสั่งการรักษาของแพทย์ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงต้องวางแผนที่จะเลือกศูนย์ไตเทียมที่มีทำเลที่สะดวกในการเดินทาง เพราะ การเดินทางมาฟอกไตแต่ละครั้ง ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ผู้ป่วยบางคนต้องอาศัยผู้ดูแลในการพามาฟอกไต นอกจากทำเลที่ตั้งแล้ว ผู้ป่วยก็ไม่ควรมองข้ามถึง มาตรฐานการให้บริการที่ต้องมีคุณภาพ สะอาดและ , ความปลอดภัย ของศูนย์ไตเทียมแต่ละแห่งด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้ จะส่งผลถึง ประสิทธิภาพของการฟอกไต และภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดตามมา ของการฟอกไตแต่ละครั้ง ผู้ป่วยที่เลือกฟอกไต ก็ยังมีอิสระในการเดินทางไปไหนมาไหนได้ เพราะ ปัจจุบัน ผู้ป่วยทั้งสิทธิบัตรทอง ประกันสังคม สามารถเลือกฟอกไตที่จังหวัดไหนก็ได้ และ การย้ายสถานที่ฟอกไต ก็ไม่ได้ยุ่งยาก เพียงแต่อาจจะต้องมีการนัดหมายล่วงหน้าเพื่อจองคิวในการฟอกไต

3 ปัญหาหรืออาการที่จะเกิดขึ้นทั้งขณะและหลังฟอกไต

ในการฟอกไตแต่ละครั้ง หลังจากการแทงเข็มเข้าไปยังผิวหนัง ตำแหน่งเส้นฟอกไตแล้ว ผู้ป่วยจะไม่ได้เกิดความเจ็บปวดอะไรอีก แต่ ในขณะหรือหลังฟอกไต ผู้ป่วยบางคนอาจจะมีอาการผิดปกติบ้าง

หน้ามืดวิงเวียนขณะหรือหลังฟอกไต จากภาวะความดันต่ำจากการดึงน้ำในร่างกายมากเกินไปขณะฟอกไต หรือเกิดจากการที่ผู้ป่วยมีโรคหลอดเลือดหัวใจร่วมอยู่ด้วย

ตะคริวที่ขาขณะฟอกไต จากการเสียสมดุลของน้ำและสารเกลือแร่ในร่างกายขณะฟอกไต

ผิวหนัง แห้ง สีคล้ำ หรือ มีอาการคัน จากการสะสมของแร่ธาตุในร่างกายหลังการฟอกไตแต่ละครั้ง

ไข้จากการติดเชื้อ หรือ ไข้จากปฎิกริยาภูมิแพ้ จากสารในไส้กรอง หรือ น้ำยาฟอกไต การติดเชื้อจากการฟอกไตสามารถติดเชื้อได้จาก บริเวณผิวหนังที่แทงเข็มฟอกไตที่แขน หรือ ตำแหน่งที่คาสายฟอกไตที่คอ ซึ่งเราจะมักสังเกตุเห็นการบวมแดงร้อน บริเวณผิวหนังที่เกิดการติดเชื้อ หรือ ติดเชื้อจากการใช้ไส้กรองซ้ำที่ไม่ปลอดเชื้อ

ซึ่งทางทีมแพทย์พยาบาลของศูนย์ไตเทียม ก็มีการติดตาม เฝ้าระวัง อยู่แล้วตลอดเวลาขณะที่ทำการฟอกไต การฟอกไตจึงมีความปลอดภัย

4 อาการอ่อนเพลียหลังฟอกไต

ผู้ป่วยหลังฟอกไต ส่วนใหญ่จะมีอาการหมดแรง อ่อนเพลีย จนต้องนอนพัก จึงจะดีขึ้น ซึ่งอาการนี้ อาจจะอยู่นานไม่กี่ชั่วโมง จนไปถึง12 ชั่วโมงก็ได้ ซึ่งต่างกันในผู้ป่วย แต่ละคน สาเหตุจริงๆที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการอ่อนเพลียหลังฟอกไต ก็ยังไม่ทราบแน่ชัด การป้องกันที่ดี ก็คือการนอนพักผ่อนที่เพียงพอ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการค้นหาปัจจัยอื่นๆที่ทำให้เกิดการอ่อนเพลียได้ง่ายขึ้น เช่น มีภาวะซีด, การฟอกไตที่ไม่ได้ประสิทธิภาพ, การขาดน้ำหลังฟอกไต , ภาวะเครียดเรื้อรัง, การอดนอน

5 วิถีการกินที่เปลี่ยนไป

การฟอกไต ไม่ได้ทำทุกวัน เหมือนกับการล้างไตทางหน้าท้อง ดังนั้นสิ่งที่ผู้ป่วยกินเข้าไปก็จะไม่ถูกขับออก จะสะสมอยู่ในร่างกายจนกว่า จะถึงวันที่มารับการฟอกไต ดังนั้นการดื่มน้ำในแต่ละวัน จึงต้องจำกัดปริมาณ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีปัสสาวะออกเลย โดยทั่วไปก็จำกัดปริมาณน้ำไม่เกิน1ลิตรต่อวัน แต่ผู้ป่วยบางคนก็อาจจะต้องจำกัดมากกว่า1ลิตร ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับการแนะนำของแพทย์ที่ดูแล เช่นเดียวกับการเลือกรับประทานอาหาร ผู้ป่วยบางคนเข้าใจผิดว่า ผู้ป่วยที่รับการฟอกไตแล้วสามารถกินอาหารได้ทุกชนิดเหมือนคนที่ไตปกติ ด้วยเหตุที่การฟอกไตด้วยเครื่องฟอกไตก็ยังมีข้อจำกัดในการขับสารพิษ เกลือแร่ หรือแร่ธาตุที่เกิน ไม่ได้เทียบเท่ากับไตจริงของคนเรา อีกทั้งการฟอกไตไม่ได้ทำทุกวันเหมือนไตจริง ดังนั้นการกินอาหารที่มีปริมาณ เกลือหรือโซเดียม, ฟอสฟอรัส หรือ โปแตสเซียมที่สูง ก็ย่อมเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายจากการที่มีระดับสารเหล่านี้สะสมในร่างกายที่สูงเกิน

6 ต้องเปลี่ยนเป็นคนที่ใส่ใจตัวเองมากขึ้น ผู้ป่วยไตวายจะต้องมีการปรับการดูแลตัวเองที่บ้าน ให้มากขึ้นตั้งแต่

การรู้จักออกกำลังกายที่เหมาะสมกับตัวเอง อย่างสม่ำเสมอ,

การมีวินัยในการกินยา,

การดูแลเส้นฟอกไตหรือ สายฟอกไตที่คอ ตั้งแต่การดูแลความสะอาดของผิวหนัง ตลอดจนการระมัดระวังกิจวัตรประจำวันของแขนข้างที่ผ่าตัดเส้นฟอกไต ที่อาจจะทำให้เส้นฟอกไตเกิดการตีบตันเช่นการหลีกเลี่ยงใช้แขนข้างนั้นยกของหนัก, การวัดความดัน, การนอนทับแขน, การเกิดอุบัติเหตุที่แขน, การเจาะเลือดหรือฉีดยาที่แขนข้างนั้น

การตรวจวัดความดัน วัดน้ำหนัก ที่บ้านและจดบันทึกเพื่อ่ให้แพทย์ดู

ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
ชีวา
คลินิกกายภาพบำบัด
คลินิกกายภาพบำบัด
ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
ชีวา
ชีวา
ชีวา
ชีวา
ศูนย์ไตเทียม